วันอังคารที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2556

10 สถานที่ควรไปเยือน ก่อนเสื่อมโทรม-หายไปจากโลก


เครดิต : tripinsurance.com
แหล่งที่มา : kapook.com

10. ทัชมาฮาล (Taj Mahal)

ทัชมาฮาล สุสานหินอ่อนซึ่งเป็นอนุสรณ์แห่งความรักที่งดงามมากที่สุดในโลก แห่งประเทศอินเดีย สร้างขึ้นโดยสมเด็จพระจักรพรรดิโมกุลผู้มีรักมั่นคงต่อพระนางมุมตัซ มาฮาล พระมเหสีของพระองค์ ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างนานกว่า 21 ปี

9. อุทยานแห่งชาติกลาเชียร์ (Glacier National Park)

อุทยานแห่งชาติกลาเชียร์ ตั้งอยู่ในรัฐมอนทานา สหรัฐอเมริกา ซึ่งเมื่อ 100 ปีก่อน มีการค้นพบธารน้ำแข็งมาก 150 แห่งกระจายอยู่รอบอุทยานแห่งชาติกลาเชียร์ แต่ใน ค.ศ. 2005 ธารน้ำแข็งกลับละลายไปจนเหลือธารน้ำแข็งเพียง 27 แห่งเท่านั้นที่ยังคงเหลืออยู่ ซึ่งคาดว่าสภาวะโลกร้อนอาจจะทำให้ธารน้ำแข็งที่เหลืออยู่ละลายไปจนหมดภายใน 20 ปีนี้ หรือเร็วกว่านั้น

8. ลุ่มน้ำคองโก (The Congo Basin)

ลุ่มน้ำคองโก เป็นป่าฝนเขตร้อนซึ่งมีพื้นที่กว่า 10 ล้านเอเคอร์ ใหญ่เป็นอันดับ 2 ถัดจากลุ่มน้ำแอมะซอน ตั้งอยู่ในทวีฟแอฟริกา เป็นพื้นที่ซึ่งได้รับการระบายน้ำจากแม่น้ำคองโกซึ่งอยู่ในตะวันออกกลางของทวีปแอฟริกา และเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนของโลกถึง 40% ซึ่งตามข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ ระบุว่า หากไม่มีการจัดการปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่นี้อย่างมีประสิทธิภาพมากพอ อาจจะทำให้ พื้นที่ป่าเขตร้อน พืชพรรณธรรมชาติ และสัตว์ป่า กว่า 2 ใน 3 ของลุ่มน้ำคองโก หายไปภายจนหมดภายใน 25 ปี เนื่องจากปัญหา การทำเหมือง การลักลอบตัดไม้ การทำฟาร์ม และการทำปศุสัตว์

7. มาดากัสการ์ (Madagascar)

สาธารณรัฐมาดากัสการ์ ตั้งอยู่ในมหาสมุทรอินเดีย เป็นเกาะที่ใหญ่อยู่ในอันดับที่ 4 ของโลก และยังเป็นถิ่นของสายพันธุ์พืชและสัตว์ถึงของโลกถึง 5% โดยที่มากกว่า 80% นั้นเป็นสัตว์หรือพืชเฉพาะถิ่นมาดากัสการ์ โดยสัตว์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเกาะแห่งนี้ก็คือ ตัวลีเมอร์ซึ่งอยู่ในตระกูลไพรเมต ตัวฟอสซา นกเฉพาะถิ่น 3 ตระกูล และต้นบาวบับ 6 ชนิด แต่ในทุกวันนี้ สมดุลทางธรรมชาติของมาดากัสการ์ถูกคุกคามอย่างมาก เนื่องจากพื้นที่ป่าถูกทำลายด้วยการตัดไม้และเผาป่า เพื่อนำไปทำเป็นพื้นที่ทางการเกษตร และการรุกล้ำพื้นที่ป่า ทำให้มีการคาดว่าหากไม่มีมาตรการที่จะช่วยรักษาสภาพแวดล้อมของเกาะ จะทำให้พื้นที่ป่าตามธรรมชาติของสาธารณรัฐมาดากัสการ์ หายไปจนหมดภายในเวลา 35 ปี ซึ่งจะส่งผลให้สัตว์ต่าง ๆ ที่อาศัยอยู่ในป่าแห่งนั้นหายไปด้วยเช่นกัน

6. เทือกเขาแอลป์ (The Alps)

เทือกเขาแอลป์ เป็นเทือกเขาที่ใหญ่สุดของทวีปยุโรป ซึ่งธารน้ำแข็งกับหิมะของเทือกเขาแอลป์นั้นได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างมาก และที่ผ่านมา จากอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวนับตั้งแต่ยุค ค.ศ. 1880 ซึ่งมากกว่าอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกนั้น ก็ทำให้เทือกเขาน้ำแข็งแห่งนี้ละลายไปแล้วกว่า 20% และนั่นทำให้มีการคาดการณ์ว่า ภาวะโลกร้อนอาจจะทำให้เทือกเขาแอลป์ละลายหายไปจนหมดภายในปี 2050 หรืออีกไม่ถึง 40 ปีเท่านั้น

5. ทะเลเดดซี (The Dead Sea)

ทะเลเดดซี หรือทะเลมรณะ เป็นทะเลที่เค็มที่สุดในโลก ตั้งอยู่ในระหว่างเขตประเทศจอร์แดนและประเทศอิสราเอล โดยรับน้ำที่ไหลมาจากแม่น้ำจอร์แดนเพียงสายเดียวเท่านั้น แต่ในช่วง 40 ปีที่ผ่านมา น้ำในทะเลแห่งนี้ลดระดับลงไปถึง 1 ใน 3 หรือ 13 นิ้วต่อปี อีกทั้งพื้นที่ตั้งของรีสอร์ทริมทะเลรวมถึงอาหารที่อยู่ในพื้นที่ 1.6 กิโลเมตรจากชายฝั่ง ก็ทรุดลงไปถึง 24.3 เมตรแล้ว ทั้งนี้ก็เพราะน้ำจากแม่น้ำจอร์แดน เริ่มจะไหลลงมะยังทะเลเดดซีน้อยลงทุกที ทำให้คาดว่าทะเลเดดซีอาจจะเหือดแห้งไปจนหมดภายใน 50 ปีนี้

4. เวนิซ (Venice)

เวนิซ เมืองหลวงของแคว้นเวเนโต แห่งประเทศอิตาลี เป็นเมืองที่ประกอบด้วยหมู่เกาะเล็กๆ หลายเกาะในบริเวณเดียวกัน ซึ่งจากความงดงามและสภาพที่เต็มไปด้วยคลองน้อยใหญ่กระจายอยู่ทั่วเกาะ จนเกาะแห่งนี้เต็มไปด้วยสะพานข้ามคลอง ทำให้เวนิซได้รับการขนานนามว่าเป็นเมืองแห่งสายน้ำ และเมืองแห่งสะพาน โดยมีเส้นทางคมนาคมทางน้ำและการเดินเท้าเท่านั้น แต่บางคนอาจจะไม่ทราบว่าเมืองแห่งสายน้ำที่แสนงดงามแห่งนี้เริ่มที่จะจมลงมานานแล้ว โดยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เวนิซจมลงไปแล้วถึง 9 นิ้ว และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลก็ยิ่งทำให้สถานการณ์การจมของเกาะต่าง ๆ ในเวนิชเลวร้ายมากยิ่งขึ้น เมืองเวนิชมีความถี่ของการเกิดอุทกภัยเพิ่มขึ้นในแต่ละปี โดยที่ผ่านมา ใน ค.ศ. 1900 มีความถี่ในการเกิดน้ำท่วมบริเวณ เซนท์มาร์กสแควร์ ไม่ถึง 10 ครั้ง แต่ใน ค.ศ. 1980 กลับเพิ่มขึ้นเป็น 40 ครั้ง และใน ค.ศ. 200 ก็มีความถี่ในการเกิดน้ำท่วมบริเวณดังกล่าวไม่ต่ำกว่า 60 ครั้ง ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า เมืองแห่งสายน้ำนี้อาจจะยังคงอยู่เพื่อรอให้นักท่องเที่ยวไปเยือนอีกเพียงแค่ไม่ถึง 70 ปีเท่านั้น

3. เกรตแบร์ริเออร์รีฟ (Great Barrier Reef)

เกรตแบร์ริเออร์รีฟ เป็นแนวปะการังนอกชายฝั่งที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก อยู่บริเวณชายฝั่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศออสเตรเลีย มีความยาวกว่า 2,000 กิโลเมตร โดยเริ่มตั้งแต่แหลมยอร์ก (Cape York) ของรัฐควีนส์แลนด์ ลงมาถึงบันดะเบอร์ก (Bundaberk) ทางตอนใต้ ครอบคลุมดูแลพื้นที่ว่า 347,800 ตารางกิโลเมตร โดยมีแนวปะการังใหญ่แบ่งออกเป็น 3 ส่วนคือ แนวปะการังเหนือ หมู่เกาะวิตซันเดย์ และแนวปะการังใต้ ซึ่งเกรตแบร์ริเออร์รีฟนี้เป็นแหล่งอาศัยของสิ่งมีชีวิตเพียงอย่างเดียวบนโลกที่สามารถมองเห็นจากอวกาศได้ แต่อย่างไรก็ตาม ด้วยผลจากการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิน้ำในมหาสมุทร มลภาวะทางน้ำ ค่าความเป็นกรดของน้ำ รวมทั้งพายุไซโคลนที่พัดเข้าทำลายแนวหินปะการังอย่างต่อเนื่อง ก่อให้เกิดปะการังฟอกขาวเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจะทำให้ปะการังตายลงและทำลายระบบนิเวศของเกรตแบร์ริเออร์รีฟไป ทั้งนี้ จากปัญหาด้านสภาวะโลกร้อนซึ่ง เดอะ ออสเตรเลียน กรีน เฮ้าส์ มีรายงานว่า ภายในปี 2070 อุณหภูมิจะเพิ่มขึ้นอีก 6 องศาเซลเซียส ทำให้มีการคาดการณ์ว่า 60% ของปะการังทั้งหมดในโลกจะหายไปภายในปี 2030 ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่น่ากังวลว่าสิ่งที่ธรรมชาติสร้างสรรค์มานานกว่า 8,000 ปี อาจจะต้องหายไปภายใน 1 ชั่วชีวิตของเรา และหินปะการังขนาดใหญ่ของเกรตแบร์ริเออร์รีฟนี้ ก็จะถูกทำลายลงจนหมดภายในระยะเวลาเพียงแค่ไม่ถึง 100 ปีเท่านั้น

2. มัลดีฟส์ (The Maldives)

มัลดีฟส์ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของประเทศอินเดียและศรีลังกา เป็นประเทศที่งดงามประกอบด้วยหมู่เกาะปะการังจำนวนมาก ท่ามกลางผืนน้ำอันงดงามของมหาสมุทรอินเดียที่โอบล้อมเกาะไว้ ทำให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมกับธรรมชาติอันงดงามของหาดทรายริมทะเลและพันธุ์ไม้เขตร้อนของมัลดีฟส์ แต่อย่างไรก็ตาม มัลดีฟส์เป็นประเทศที่มีพื้นที่อยู่ต่ำที่สุดในโลก โดย 80% ของหมู่เกาะทั้ง 1,200 เกาะของมัลดีฟส์ มีความสูงเหนือน้ำทะเลเพียงไม่ถึง 1 เมตรเท่านั้น ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ภายในอีก 100 ปีข้างหน้า มัลดีฟส์ อาจจะจมหายลงไปในมหาสมุทรอินเดียจนไม่สามารถใช้เป็นที่อยู่อาศัยได้อีกต่อไป และจากความกังวลนี้ ทำให้ใน ค.ศ.2008 ประธานาธิบดีของสาธารณรัฐมัลดีฟส์ ได้ประกาศนโยบายที่จะเริ่มซื้อดินแดนจากประเทศอื่น ๆ เช่นอินเดีย เพื่อใช้เป็นบ้านแห่งใหม่ในอนาคตของเหล่าประชาชนที่จะไร้ที่อยู่อาศัย เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล และการกัดเซาะของชายหาด ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียพื้นที่ชายหาดถึง 90%

1. หมู่เกาะกาลาปากอส (galapagos islands)

หมู่เกาะกาลาปาโกส แห่งประเทศเอกวาดอร์ ตั้งอยู่กลางมหาสมุทรแปซิฟิก เป็นสถานที่ซึ่งมีความน่าสนใจทั้งด้านธรณีวิทยา สัตววิทยา และนิเวศวิทยา ทั้งยังมีสัตว์ที่มีลักษณ์แปลก ๆ อยู่บนเกาะ เช่น เต่ายักษ์ หรือ กาลปาโก อันเป็นที่มาของชื่อเกาะ และยังเป็นที่อยู่ของสัตว์อื่น ๆ ที่อาศัยอยู่บนเกาะและในทะเลรอบ ๆ อีกกว่า 9,000 สายพันธุ์ แต่อย่างไรก็ตาม จากความน่าสนใจดังกล่าวทำให้มีนักท่องเที่ยวไปไปเยือนยังหมู่เกาะแห่งนี้มากขึ้นถึง 12% ต่อปี ซึ่งเป็นผลให้มีโรงแรม ร้านอาหาร และยานพาหนะผุดขึ้นมากมายเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ล่วนแต่เป็นสิ่งที่บั่นทอนธรรมชาติอันงดงามของหมู่เกาะแห่งนี้ นอกจากนั้นยังมีกลุ่มคนที่ลักลอบน้ำสัตว์เข้ามายังเกาะเพื่อใช้เป็นอาหาร อีกทั้งเรือสำราญที่พานักท่องเที่ยวมายังเกาะก็ได้นำเอาหนูมายังเกาะแห่งนี้อีกด้วย ทำให้ธรรมชาติอันน่าตื่นตาของหมู่เกาะกาลาปาโกสแห่งนี้เกิดความเสื่อมโทรมและถูกทำลายลงไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ทราบว่าจะความสวยงามเหล่านี้จะยังคงมีอยู่อีกนานเท่าใด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น